ศบค.เผยผลตรวจ ATK จังหวัดภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี เพิ่มมากสุด จับตาจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน ทั้งกระบี่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ชี้คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ โดยเฉพาะเชียงใหม่กระจายไกลถึงแม่ฮ่องสอน ส่วนงานศพพบกระจายทั่วประเทศ ระดมส่งสรรพกำลังและวัคซีนลงพื้นที่แก้ปัญหา
วันที่ 18 ตุลาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ข้อมูล ณ วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 12.30 น. สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 8,918 ราย หายป่วยแล้ว 1,662,433 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,782,989 ราย และเสียชีวิตสะสม 18,392 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 พบผู้หายป่วยแล้ว 1,689,859 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,811,852 ราย และเสียชีวิตสะสม 18,486 ราย
ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ-ใส่ท่อช่วยหายใจลด
วันนี้มีผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ 103,507 ราย อยู่ใน รพ. 41,138 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 62,369 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนัก 2,728 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 619 ราย โดยผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจลดลงมาจากก่อนหน้านี้ค่อนข้ามาก
ส่วนผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 474,097 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 485,263 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 35,421 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-19 ตุลาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 67,587,102 โดส
ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 242,331,811 ราย อาการรุนแรง 78,093 ราย รักษาหายแล้ว 219,675,340 ราย เสียชีวิต 4,928,899 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
- 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 45,996,507 ราย
- 2.อินเดีย จำนวน 34,108,323 ราย
- 3.บราซิล จำนวน 21,664,879 ราย
- 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 8,541,192 ราย
- 5.รัสเซีย จำนวน 8,060,752 ราย
- ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 จำนวน 1,811,852 ราย
ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตวันนี้มีจำนวน 79 คน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ โดยวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ 312 คน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 และผู้เสียชีวิตในวันนี้เป็นชาย 40 คน หญิง 39 คน กว่า 90% เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง และมีเด็ก 1 เดือนเสียชีวิต 1 ราย อยู่ที่ จ.ตาก ซึ่งไม่มีโรคประจำตัว
ภาคใต้เสียชีวิตมากสุด
“เมื่อมาดูรายละเอียดผู้เสียชีวิตในวันนี้พบว่ามาจากภาคใต้มากที่สุด โดยมาจากปัตตานี 8 ราย ยะลา 4 ราย นราธิวาส 3 ราย พัทลุง 2 ราย สงขลา 1 ราย ชุมพร 1 ราย และสุราษฎร์ธานี 1 ราย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า
นอกจากนี้เมื่อดูแนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วประเทศรายใหม่ จะเห็นภาพรวมของประเทศที่อยู่ในพื้นที่ 67 จังหวัด กับกรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่กราฟของจังหวัดภาคใต้ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงเฝ้าระวังอยู่
ผล ATK หลายจังหวัดพุ่ง รวมจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว
ส่วนผลรวมการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ทั่วประเทศวันนี้อยู่ที่ 5.4% แต่เมื่อแยกตามเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขจะพบว่า จังหวัดที่พบมากอยู่ในเขตที่ 12 หรือในภาคใต้ โดยพบว่า ผลการตรวจ ATK ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน พบว่าอยู่ที่ จ.นราธิวาสมากที่สุด 28.3% รองลงมาเป็นปัตตานี 20.2% ยะลา 19.5% สงขลา 10.1%
“นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่ต้องจับตามองจากผลตรวจ ATK เป็นบวก ที่ค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 25.1% และยังมีที่กระบี่ 10.3% ซึ่งอยู่ในเขตเดียวกันกับนครศรีธรรมราช ซึ่งก็น่าเป็นห่วง รวมถึงยังมีจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ เชียงใหม่มีจำนวน 11.4% เชียงราย 20.8% จ.ตาก ผลเฉลี่ยอยู่ที่ 7.1%”
แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ยังมี 5 จังหวัดของภาคใต้อยู่ใน 10 จังหวัดท็อป 10 เช่นเดิม แต่นราธิวาสกับนครศรีธรรมราชสถิติเริ่มลดลง มาอยู่ในอันดับที่ 8 และ 9 ขณะที่เชียงใหม่ที่เคยอยู่อันดับ 10 วันนี้อันดับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 เพราะฉะนั้นเราต้องมีการเฝ้าระวังในจังหวัดอื่น ๆ ที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว
คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ งานศพกระจายทั่วประเทศ
ส่วนกลุ่มคลัสเตอร์ที่พบใหม่ เช่นที่เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อที่ตลาดหรือกาดเมืองใหม่ ซึ่งก็ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ และมีการเชื่อมโยงไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกเหนือจากคลัสเตอร์ตลาดแล้วยังมีคลัสเตอร์อื่น ๆ ในเชียงใหม่อีก เช่น แรงงานไม้ตัดยาง ร้านอาหาร บ้านพักนักเรียนประจำ ร้านค้า ดังนั้นจึงขอให้จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้มงวดเรื่องการใช้ชีวิตและปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย
“นอกจากนี้ที่พูดอยู่ทุกครั้งคือคลัสเตอร์งานศพที่พบกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้ที่มีรายงานเข้ามามีที่เลย อุดรธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ซึ่งขอเน้นย้ำเรื่องการกินอาหาร ถ้าเป็นไปได้ขอให้รับอาหารนำกลับไปรับประทานที่บ้าน”
เร่งฉีดโควิดก่อนเปิดประเทศ
“ผลการฉีดวัคซีนที่รายงานเข้ามาในวันนี้เพิ่มขึ้น 994,781โดส คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกคิดเป็น 53.6% ของจำนวนประชากรแล้ว ส่วนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 37.4% ของจำนวนประชากร ส่วนเข็มที่ 3 คิดเป็น 2.8% ของจำนวนประชากร” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า
สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้ ทุกจังหวัดจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ในระดับจังหวัด และอย่างน้อยร้อยละ 70 ในหนึ่งพื้นที่ (COVID Free Area) ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ต้องให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80
โฟกัสเป้าหมายจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว
แพทย์หญิงสุมนียังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการเปิดประเทศในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัด โดยระยะนำร่อง (1-31 ตุลาคม 2564 ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) และระยะที่ 2 (1-30 พ.ย.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบฯ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง ตราด
“กลุ่มสำคัญในช่วงนี้ได้แก่กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี เพราะใกล้จะเปิดเทอมแล้ว ตอนนี้ที่รายงานมามี 1.3 ล้านโดส หรือประมาณ 1 ใน 4 จากจำนวนเป้าหมาย 4.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการกระจายวัคซีนจากส่วนกลาง 4.5 ล้านโดสลงไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแล้ว ขอให้ผู้ปกครองติดตามข่าวว่ามีการนัดให้บุตรหลานไปฉีดวันไหนด้วย รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีการส่งสรรพกำลัง และวัคซีนลงไปในพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรได้ตามเป้าหมาย”
ส่วนพื้นที่จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนครอบคลุมประชากร 40-49% มีเลย หนองคาย อุดรธานี จังหวัดมากกว่า 50% ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบฯ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ ระยอง และตราด และมีอีกหลายจังหวัดที่ฉีดครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุเกินกว่า 50-70%
นอกจากนี้ทางส่วนกลางยังมีการส่งวัคซีนไปเพิ่มเติมในจังหวัดนำร่องอีก 7 แสนโดสด้วย จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในจังหวัดสีฟ้าได้เข้ามาฉีดวัคซีนกันให้มาก ๆ ด้วย
3 ข้อหลักแผนเปิดประเทศ
แพทย์หญิงสุมนี กล่าวว่า ในส่วนของการเปิดประเทศมีข้อพิจารณาหลัก 3 ปัจจัย คือ 1.มาตรการสาธารณสุข 2.ภาคเศรษฐกิจ คือ การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ 3.ความสอดคล้องมาตรการระหว่างประเทศต้นทางและไทย เช่น การเข้าออกประเทศ มีรูปแบบการเข้าประเทศ 3 แบบ คือ 1.เข้าในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด กลุ่มคนไทยหรือต่างชาติที่รับวัคซีนไม่ครบ โดยกักตัว 7 วัน 10 วัน 14 วันตามแต่กรณี 2.แซนด์บ็อกซ์ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด และ 3.เข้าแบบไม่กักตัว
โดยทั้ง 2 แบบหลังนี้จะต้องมีเงื่อนไขรับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม และคุณสมบัติผู้เข้ามาในประเทศ นอกจากรับวัคซีนครบ ต้องมีผลตรวจหาเชื้อจากประเทศต้นทาง 72 ชั่วโมงไม่พบเชื้อ มีประกันสุขภาพ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ มาถึงไทยก็ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ เมื่อเป็นลบ จึงเดินทางต่อไปได้
ทั้งนี้การประชุมเตรียมการเปิดประเทศจะประชุมอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องวางแผนรอบคอบ โดยเป้าหมายหลักเปิดประเทศแล้วประชาชนต้องปลอดภัย มีระบบสาธารณสุขรองรับเมื่อต้องใช้แผนเผชิญเหตุหรือเกิดเหตุไม่คาดฝัน โดยจะมารายงานผลเป็นระยะ
- ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้(20 ต.ค.) ลดเหลือ 8,918 เสียชีวิตเพิ่ม 79 ราย
- ศบค. เปิด 3 ข้อหลัก พิจารณา “เปิดประเทศ” 1 พ.ย.