เสียงสะท้อน‘หอการค้า’
ฝากรบ.เร่งกระตุ้นศก.
หมายเหตุ – ความเห็นจากสมาชิกหอการค้าไทยทั่วประเทศ กรณี หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 ขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2564 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีข้อเรียกร้องอะไรที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการบ้าง
จุลนิตย์ วังวิวัฒน์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
ยินดีอย่างมากที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมการจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พวกเราจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นกันทั้งวันเกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะได้ข้อสรุปอีกครั้งหลังการประชุม แต่ประเด็นหลักๆ ที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ต้องการเสนอแนะต่อรัฐบาล ประเด็นแรกคือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว จะมีการเปิดเมือง เราอยากเห็นการจัดสรรวัคซีนเข้าถึงพื้นที่อย่างจริงจัง ด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่จะเปิดแหล่งท่องเที่ยว
ประเด็นที่สองคือ มาตรการสำคัญในการควบคุมและป้องกันความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว ทั้งที่พักและร้านอาหารได้การรับรองมาตรฐาน SHA และ SHA+ ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง สิ่งจำเป็นที่สุดคือ การจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีการจัดสรรไปบางส่วนแล้ว แต่ควรมีการระดมฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการและพนักงาน รวมทั้งการเข้าถึงมาตรฐาน SHA และ SHA+ อย่างครอบคลุมและทั่วถึงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการฐานราก กลุ่มเล็ก กลุ่มย่อย ยังไม่สามารถเข้าถึง จุดนี้รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาและปรับแผนรองรับให้เร็ว เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไปสู่ทุกระบบของประเทศอย่างแท้จริง
ประเด็นที่สามคือ มาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ อาทิ ภาษี เงินทุน เงินกู้ ควรมีการพิจารณาให้เกิดการกระตุ้นระยะสั้น เพราะปัจจุบันภาคเอกชนมีปัญหามากในกรณีเงินสดหมุนเวียน ส่งผลกระทบไปสู่การจ้างงาน การจะฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศต้องทำทุกอย่างให้ครอบคลุมทุกระบบที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
สมชาติ พงคพนาไกร
ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดโขงชีมูล
หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 หรือกลุ่ม จังหวัดโขง ชี มูล ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ มองว่าแม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายขึ้น ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดกิจการตามปกติ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจรวมยังคงเงียบเหงา ตอนนี้เราน่าจะฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้เร็วที่สุดจากการท่องเที่ยว เพราะตามปกติแล้วการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดเราก็อยู่ในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะเดียวกันทางกลุ่มจังหวัดก็ต้องฉีดวัคซีนให้ถึง 70% ก่อนเป็นอันดับแรก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมได้ คาดว่าการท่องเที่ยวปลายปีนี้ น่าจะมีความคึกคัก และกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอสมควร ตอนนี้มีการประชุมกลุ่มหารือเกี่ยวกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองหลักของกลุ่มจังหวัด มีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 5% หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท จากจีดีพีของจังหวัดกว่าแสนล้านบาท เป็นหนึ่งในหัวเมืองใหญ่ในภาคอีสานกำลังเร่งเครื่องผลักดันขับเคลื่อนโครงการที่สามารถทำได้ในช่วงปัจจุบัน-2565
สิ่งที่ทางกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เตรียมจะเสนอรัฐบาลในเรื่องของการเพิ่มระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่รัฐบาลได้มีการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วยจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เรามองว่าอีสานมี 20 จังหวัดและมีจังหวัดใหญ่ๆ อยู่ 4 จังหวัด ในภาคอีสานของเรา รัฐบาลก็ตั้งไว้เป็นหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจ เรามองว่าอีสานตอนล่าง ก็น่าจะมีอีกหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และก็มองว่าควรจะมี 2 ระเบียงเศรษฐกิจในภาคอีสาน นั่นก็คือมีระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 และ 2 เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่เราจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจเรื่องด้านการแปรรูปเกษตรและอาหาร เรามองว่าในพื้นที่อีสานตอนล่าง 1 และ 2 เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนเพียงพอและพื้นที่การเพาะปลูกก็มาก ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำพื้นที่นี้ให้ดีได้ เรามองว่าระเบียงเศรษฐกิจก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และก็จะไปเปลี่ยนรูปการเกษตรให้มีความหลากหลายขึ้น
เดิมภาคเกษตรของภาคอีสานล่าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าว มัน ยาง อ้อย จะทำอย่างไรเราถึงจะเพิ่มภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแปรรูปเกษตรขึ้นมาให้เกิดขึ้นให้ได้ในภาคอีสาน เพราะถ้าเกิดอุตสาหกรรมมาแล้ว การแปรรูปสินค้าเกษตรก็จะใช้เยอะมากขึ้น พืชผักก็ต้องปลูกมากขึ้น เกษตรกรก็ได้มาปรับเปลี่ยนและปลูกพืชให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นมีทั้งพืชระยะสั้น ระยะกลางและพืชระยะยาว ทำให้รายได้เขาดีขึ้น เรามองว่าการที่เราจะไปเปลี่ยนให้เกษตรกรเขารวยขึ้นมาเลย ไม่ใช่เรื่องง่าย เรามองว่าการที่เราดึงเอาภาคอุตสาหกรรมมาให้เขาทำให้เขาสามารถปลูกพืชหลากหลายก็น่าจะทำให้เขาประสบความสำเร็จ
ด้านแผนพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว มีการวางโครงการไว้ในปี 2566-2570 หลักๆ มีโครงการเกี่ยวกับเกษตรและอาหาร เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) จากเดิมได้วางแนวทางไว้ว่า จะทำเกษตรอินทรีย์ แต่เมื่อพิจารณาศักยภาพของกลุ่มจังหวัดแล้ว ทำได้ไม่ถึง 1% จึงมองว่าจะมีการเพิ่มในส่วนของปศุสัตว์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการพัฒนาแบบครบวงจร จากพืชเกษตร เราหันมา
สนับสนุนการทำโคเนื้อเพิ่มขึ้น มีจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดนำร่องอย่างเป็นรูปธรรม เลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ชาร์โรเลส์ ทำโรงเชือดได้มาตรฐาน กำลังเตรียมโรงงานเพื่อแปรรูปตัดแต่ง
ตามหลังมาด้วยอุบลราชธานีกำลังเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์แบรงกัส และอีกสองจังหวัดกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ เมื่อเราจับมือกันในกลุ่มจังหวัดจะสามารถแชร์เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมไปถึงสร้างความหลากหลาย ต่อยอดโครงการต่างๆ เกี่ยวกับภาคการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น
รวมทั้งมี ไพลอต แพลนต์ (pilot plant) อุทยานวิทยาศาสตร์อุบลราชธานีมาสนับสนุน นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ลด PM2.5 ส่งเสริมให้เกษตรกรไถนากลบตอซังข้าว เพื่อเป็นปุ๋ยในฤดูทำนาต่อไปโดยไม่เผา และยังมีการสนับสนุนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของพื้นที่การเกษตรอีกหลายตัว รวมถึงใช้ดาต้าเชื่อมโยงผู้ค้าเอสเอ็มอี กับเกษตรกรภายในกลุ่มจังหวัด เป็นโครงการที่จะเสนอของบประมาณจากรัฐบาล
ส่วนเรื่องการค้าการลงทุน ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดอุบลราชธานี มีการเสนอทำทางเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 สายทางต่างระดับสีคิ้ว-อุบลราชธานี หรือถนนสีคิ้ว-เดชอุดม เพื่อเชื่อมระยะทางจากด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ต้องเดินทางผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี
เพราะสินค้าส่วนใหญ่มาจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างใช้ระยะทางไกล หากใช้เส้นทางหมายเลข 24 จะเป็นการร่นระยะทางลดต้นทุนการขนส่งสินค้าชายแดนได้มากพอสมควร
จรุงศักดิ์ สุรัฐชนานนท์
ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จังหวัดสุราษฎร์ธานีเราขอนำเสนอในส่วนแผนของภาคใต้ ตามวิสัยทัศน์ หอการค้าภาคใต้ จะเป็นองค์กรศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานเครือข่าย ภาครัฐเอกชน และประชาชน ภายใต้บีซีจี โมเดล โดยขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เป็นภูมิภาคที่ทันสมัย น่าอยู่ น่าลงทุน เติบโตอย่างยั่งยืน เน้นที่การค้าการลงทุน เกษตรและอาหาร ท่องเที่ยวและบริการ
สุราษฎร์ธานี มีโครงการที่นำเสนอ คือ 1.พัฒนาเมืองสุราษฎร์ธานี สมาร์ทซิตี้ 2.ส่งเสริมให้สุราษฎร์ธานี เป็นเมดิคอลฮับ (Medical Service, Product Service, Wellness Service, Academic Service) 3.ต่อยอดพัฒนาสุราษฎร์ธานี เมืองสมุนไพร 4.ยกระดับสู่ ไบโอ เบส เทคโนโลยีส์ (Bio Base Technologies) สุราษฎร์ธานี ออยล์ปาล์มซิตี้ 5.การท่องเที่ยวมูลค่าสูง (Premium Service And Tourism) 6.โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง ทางราง ชุมพร-สุราษฎร์, สุราษฎร์-หาดใหญ่, ดอนสัก-สุราษฎร์, สุราษฎร์-ท่านุ่น ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทั้ง 6 ประเด็น จะเชื่อมโยงกับโครงการต่างๆ ของจังหวัดภาคใต้ ทั้ง 3 กลุ่มในภาคใต้ คือ กลุ่มอันดามัน กลุ่มอ่าวไทย และกลุ่มชายแดน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้