เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า เมื่อวาน (30 พฤศจิกายน) มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่ม แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 233,654 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 274,665 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 64,754 ราย รวมผู้ได้รับวัคซีนสะสม 93,231,463 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 48,307,704 ราย คิดเป็น 67.1% ของประชากร ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 41,485,442 ราย คิดเป็น 57.6% ของประชากร และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 3,438,317 ราย คิดเป็น 4.8% ของประชากร โดยประชากรที่ว่าหมายรวมถึงประชากรแฝงเข้าไปด้วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส ในช่วงตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม จะเป็นสัปดาห์ของการฉีดวัคซีนที่จะเร่งฉีดเพิ่มเติม เนื่องในโอกาสวันสาธารณสุขแห่งชาติและวันพ่อแห่งชาติ เมื่อดูสถิติการฉีดไปแล้ว 1 เข็ม พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับวัคซีนน้อยที่สุด 45.92% ส่วนจังหวัดที่ฉีดวัคซีน 50-59.99% มีทั้งหมด 26 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ขอความร่วมมือประชาชนในจังหวัดเหล่านี้ เข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะคนใดคนหนึ่งฉีดวัคซีนไม่ได้ช่วยให้สังคมเราปลอดภัย แต่ต้องฉีดให้ได้ 70% ขึ้นไป รวมถึงเข็มสองด้วย เราถึงจะมีภูมิคุ้มกัน และตอนนี้มีเชื้อโอไมครอนเข้ามา อย่างน้อยจะช่วยลดอาการรุนแรงของโรคได้บ้าง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
“คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะคนภาคอีสาน ฉีดได้ประมาณแล้ว 50% 1 คนฉีด อีก 1 คน ยังไม่ฉีด ท่านชวนอีกคนรับการฉีด อย่างน้อยผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ส่วนรายงานสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 4,886 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อในประเทศ 4,715 ราย แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 4,566 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 149 ราย จากเรือนจำ 165 ราย และอีก 6 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 2,120,758 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,326 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 74,190 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,351 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 340 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 43 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 20,814 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 43 ราย มากสุดที่นครศรีธรรมราช 5 ราย สงขลา 3 ราย นครราชสีมา พิษณุโลก กระบี่ ลพบุรี สระแก้ว จังหวัดละ 2 ราย ผู้เสียชีวิตกว่า 95% เป็นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังถึง และยังพบเด็กชายอายุ 5 เดือน เสียชีวิต พร้อมอาการโรคหัวใจแต่กำเนิดรวมอยู่ด้วย
โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 794 ราย สงขลา 270 ราย สุราษฎร์ธานี 240 ราย นครศรีธรรมราช 204 ราย ชลบุรี 198 ราย เชียงใหม่ 171 ราย สมุทรปราการ 140 ราย ปัตตานี 119 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 117 ราย และชุมพร 100 ราย ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 6 ราย แบ่งเป็น ไอซ์แลนด์ 1 ราย สิงคโปร์ 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย กัมพูชา 1 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย และมัลดีฟส์ 1 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมสาธารณสุขยังได้ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อโควิดเป็นคลัสเตอร์ พบการระบาดหลายแห่ง ส่วนใหญ่มาจากโรงงาน สถานประกอบการพบที่ ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ตลาดพบที่ ขอนแก่น อุดรธานี สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แคมป์คนงานพบที่ ระยอง สุรินทร์ สระแก้ว ขอนแก่น โรงเรียนพบที่ ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว เชียงใหม่ เลย และอุบลราชธานี ที่ลงไปถึงระดับโรงเรียนอนุบาล ค่ายทหารพบที่ ชลบุรี ร้านอาหารพบที่ อุบลราชธานี และอุดรธานี รวมไปถึงพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ งานศพ งานบุญ ที่กระจายอยู่ทั่วไป
ส่วนการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ 1-30 พฤศจิกายน จำนวน 133,061 ราย จำแนกเป็น Test and Go 106,211 ราย Sandbox 21,438 ราย กักตัว 7 วัน 1,743 ราย กักตัว 10 วัน 3,654 ราย กักตัว 14 วัน 15 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อ 171 ราย คิดเป็น 0.13% ก็ยังคงนโยบายเปิดประเทศ ถือว่าคุ้มค่ามากที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามจากการเกิดเชื้อไวรัสโอไมครอน ทำให้มีการปรับมาตรการการตรวจเชื้อเข้าประเทศ จากเดิมที่ได้ผ่อนปรนเป็นวิธี ATK ให้กลับไปตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR
“ประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล แม้ว่าประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโอไมครอนเป็นวงกว้าง แต่โลกตอนนี้เป็นแบบโกลบอล ที่สามารถเดินทางไปไหนก็ได้ ซึ่งอาจจะมีการแวะไปประเทศแอฟริกาได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการยกระดับการคัดกรองก่อนเข้าประเทศ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 585,319 ราย รวม 263,035,743 ราย อาการหนัก 84,759 ราย หายป่วย 237,521,026 ราย เสียชีวิต 5,233,046 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 106,876 ราย รวม 49,428,913 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,438 ราย รวม 803,045 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 7,751 ราย รวม 34,595,573 ราย เสียชีวิต 76 ราย รวม 469,056 ราย บราซิล พบเพิ่ม 9,710 ราย รวม 22,094,459 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 326 ราย รวม 614,754 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก