รมว.ยุติธรรม ร่วมกิจกรรมสัญจร พืชกระท่อมสร้างเศรษฐกิจไทย ใช้อย่างไรให้มีคุณค่าและยั่งยืน ครั้งที่ 3
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
วันที่ 6 พ.ค.65 ที่โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมงานกิจกรรมสัญจร “พืชกระท่อมสร้างเศรษฐกิจไทย ใช้อย่างไรให้มีคุณค่าและยั่งยืน” ครั้งที่ 3 โดย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมให้การต้อนรับ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อแสดงความขอบคุณพี่น้องประชาชน ที่สนับสนุนร่วมกันทำให้กฎหมายพืชกระท่อมผ่านการปลดล็อกพืชกระท่อม สามารถนำมาซื้อ – ขาย และนำมาใช้กินตามวิถีชาวบ้านได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ส่วนสาเหตุที่เลือกปลดล็อกพืชกระท่อม เนื่องจากรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงเริ่มเดินหน้าและได้ศึกษาเรื่องพืชกระท่อม และมองว่าเป็นประโยชน์
และเมื่อศึกษาข้อกฎหมาย มีความเป็นไปได้ จึงได้ปลดล็อคให้ใบกระท่อมให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องการเปลี่ยนใบไม้ให้เป็นเงิน โดยได้ผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภายกร่างกฎหมายตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.63 ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ครม.ส่งให้กฤษฎีการ่างกฎหมายทั้งฉบับ ตั้งคณะกรรมาธิการถกกัน จนกระทั่ง ครม. ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ทั้งหมดนี้มี 3 วาระ ใช้เวลาร่วม 1 ปี กว่าจะเสร็จกระบวนการทางนิติบัญญัติ และสามารถให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 25 พ.ค.64 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค.64
ขณะที่การต่อยอดพัฒนาเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีความต้องการใบกระท่อมสูงมากกว่าการผลิต ล่าสุดมีการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าใบกระท่อมจากประเทศมาเลเซีย ลักลอบขนใบกระท่อมผ่านช่องทางธรรมชาติชายแดนไทย – มาเลเซีย น้ำหนัก 450 กิโลกรัม มูลค่านับแสนบาท ทำให้เห็นถึงความต้องการในไทยยังมีเป็นจำนวนมาก
ซึ่งจากสำรวจพื้นที่ปลูกกระท่อมในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า 40,000 ไร่ เมื่อคิดมูลค่าผลผลิตต่อ 1 ไร่ สามารถทำเงินได้สูงถึง 2,700,000 บาท ส่วนด้านการส่งออก เรามีข้อได้เปรียบที่กระท่อมปลูกได้ดีในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะภาคใต้ และเรามีความใกล้ชิดกับพืชกระท่อมมานาน เกิดภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นสินค้าสมุนไพร อีกทั้งกระท่อมไทยมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน ส่วนด้านคุณภาพ ความเข้มข้นของสารไมตราไจนีน ถือเป็นสินค้าพรีเมียมในตลาด
จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่สนใจทำตลาดสินค้าพืชกระท่อมโดยเฉพาะตลาดพืชกระท่อมในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 1.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีผู้ใช้ประจำประมาณ 11 – 15 ล้านคน และคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่พืชกระท่อมกำลังเริ่มเป็นที่รู้จัก ส่วนอินโดนีเซีย มีสัดส่วนในตลาดสูงเกือบร้อยละ 100 ในสหรัฐอเมริกา การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น เราต้องพัฒนาคุณภาพ ให้มีมาตรฐานการผลิตและการบริโภคที่ปลอดภัย จะช่วยให้สินค้ากระท่อมไทยเป็นที่ยอมรับต่อไป