วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนไทย จึงผลักดันและส่งเสริมให้มีการประเมินสุขภาพจิต รวมไปถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต และได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตลดลง ซึ่งการดำเนินกิจกรรม Kick off งานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 ในปีนี้มีแนวคิดที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว และส่งเสริมองค์ความรู้ทุกระดับผ่านการเพิ่มพูนความรู้ด้วยการ “เติมพลัง” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งผู้ที่วัดใจและเติมพลังได้อย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยเหลือดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ นำไปสู่การสร้าง “สังคมมีสุข” อย่างยั่งยืนต่อไป
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปีนี้กรมสุขภาพจิตจะสนับสนุนให้ทุกพื้นที่เชิญชวนประชาชนการวัดใจตนเองอย่างสม่ำเสมอผ่านทาง www.วัดใจ.com หรือ MENTAL HEALTH CHECK IN เพราะนอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพจิตในระดับบุคคล ยังเป็นการตรวจสอบสัญญาณเตือนความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันและจัดการให้กลุ่มเสี่ยงเรานั้นสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้มีเพียงแค่โรคทางจิตเวชเท่านั้น ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางใจ อันจะนำไปสู่ความเครียดและก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ การรู้เท่าทันและสามารถค้นพบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถทำให้เราหาวิธีการเพื่อช่วยเหลือและป้องกันได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปการช่วยเหลือและสร้างองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืนจากความต้องการของบริบททางสังคม จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างแท้จริง
“กรมสุขภาพจิต ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต เพราะในปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย การป้องกันทีมีประสิทธิผลคือการให้ทุกภาคส่วนทำหน้าที่และส่งเสริมบทบาทให้แก่กัน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือเรื่องของการสร้างพลเมืองคุณภาพด้วยการร่วมวัดใจ เติมพลัง และสร้างสังคมมีสุข” พญ.อัมพร กล่าว
ด้าน นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส (AIS) กล่าวว่า เอไอเอส ขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสได้เข้ามาทำงานเพื่อร่วมสร้างสังคมให้มีความสุข ด้วยการส่งเสริมความรอบรู้เท่าทันภัยยุคดิจิทัล จากหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่เป็นความร่วมมือร่วมกัน กับกรมสุขภาพจิตจนในวันนี้ได้ก้าวมาอีกขั้น คือการขยายผลเพื่อให้วัยรุ่นในระดับมหาวิทยาลัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงานได้นำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ วัยรุ่นเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์หลากหลายไม่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ การปลูกฝังทักษะพลเมืองดิจิทัล ให้แก่น้องๆ นักศึกษาวัยรุ่นในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะการสร้างสังคมดิจิทัลที่ดีและมีประโยชน์ต่อคนไทยอีกด้วย
ผศ.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) กล่าวว่า มรส.ส่งเสริมการเป็นวิศวกรสังคมของนักศึกษาในทุกมิติ โดยการรวมตัวกันของนักศึกษาที่มาจากศาสตร์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนต่างๆ ให้ครอบคลุม เพื่อหาแนวทาง และความต้องการที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหา การส่งเสริมให้วิศวกรสังคม รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล การรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเองและคนรอบข้าง จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพราะสุดท้ายแล้วการที่เรามีคนใกล้ตัว หรือชุมชนที่สามารถแบ่งปันสิ่งดีๆ ช่วยระแวดระวังป้องกันทั้งกับคนในครอบครัวหรือคนรอบข้าง จะเป็นการสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยจะดำเนินผลักดันให้อาจารย์ผู้สอนนำหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” มาปรับเปลี่ยนสู่การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่