กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ โดยระบุว่า จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 3-5 ธ.ค.65 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
โดย กอนช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 2-6 ธ.ค.65 ดังนี้
1.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขังในบริเวณ จังหวัดระนอง (อำเภอละอุ่น), จังหวัดชุมพร (อำเภอปะทิว เมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม ท่าแซะ และพะโต๊ะ), จังหวัดภูเก็ต (อำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต), จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอกาญจนดิษฐ์ เกาะพะงัน เกาะสมุย และดอนสัก), จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง), จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอขนอม และสิชล), จังหวัดตรัง (อำเภอปะเหลียน และหาดสำราญ),
จังหวัดพัทลุง (อำเภอเขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และเมืองพัทลุง), จังหวัดสตูล (อำเภอควนกาหลง ท่าแพ ทุ่งหว้า มะนัง เมืองสตูล และละงู), จังหวัดสงขลา (อำเภอกระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา รัตภูมิ สะบ้าย้อย สิงหนคร หาดใหญ่ นาทวี และสะเดา), จังหวัดปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์ ปะนาเระ เมืองปัตตานี แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก กะพ้อ ทุ่งยางแดง และมายอ), จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน เมืองยะลา และยะหา), จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ เมืองนราธิวาส ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง และสุคิริน)
2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน
สำหรับในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2.ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
3.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์