ทย.ทุ่มงบกว่า 4 พันล. ขยายขีดความสามารถสนามบินภูธร 29 แห่ง รองรับผู้โดยสารกว่า 41 ล้านคน
กรมท่าอากาศยานทุ่มงบกว่า 4 พันล้าน เร่งปรับแผนกลยุทธ์ขยายขีดความสามารถพัฒนาสนามบิน29แห่ง ทั่วไทย มั่นใจปี 66 นี้รองรับผู้โดยสารเดินทางกว่า 41 ล้านคน รับอุตสาหกรรมการบินกลับมาโต พร้อมบุกพัฒนาเชิงพาณิชย์ เปิดเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมสายการบินนำร่องใน 6 สนามบิน หวังเพิ่มรายได้เข้ากองทุนท่าอากาศยาน ลดรายจ่ายงบประมาณของรัฐ
นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์ที่จะพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 29 แห่งในปี 66 ว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์การบินเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ สายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบินที่จะให้บริการ ทย. จึงมีเป้าหมายที่จะ 1.เร่งพัฒนาขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีศักยภาพ ในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568.0392 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมทางอากาศของประเทศ โดยมีเป้าหมายว่าในปี 66 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบิน ทย. รวม 41 ล้านคนจากเดิมช่วงก่อนหน้ามีปริมาณการเดินทางที่ 29 ล้านคน และ 2.ทย.มีนโยบายที่จะเพิ่มความสะดวกสบายการบริการให้กับผู้โดยสาร และ สายการบินที่มาใช้บริการที่สนามบินของ ทย.ด้วยการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมสายการบิน
ทั้งนี้ในแผนกลยุทธ์พัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสนามบินในปี 66 ทย. มีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568.0392 ล้านบาท นั้น ในส่วนนี้จะเป็นการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานที่พัฒนาแล้วเสร็จ ประกอบด้วย สนามบินกระบี่ ที่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1- 3 (ในประเทศและระหว่างประเทศ) โดยเเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,500 คนต่อชั่วโมงหรือ 4 ล้านคนต่อปี เป็น 3,000 คนต่อชั่วโมงหรือ 8 ล้านคนต่อปี , สนามบินขอนแก่น เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คนต่อชั่วโมงหรือ 2.8 ล้านคนต่อปี เป็น 2,000 คนต่อชั่วโมงหรือ 5 ล้านคนต่อปี และ สนามบินนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ทำให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 450 คนต่อชั่วโมงหรือ 1.3 ล้านคนต่อปี เป็น 1,600 คนต่อชั่วโมงหรือ 4 ล้านคนต่อปี
นอกจากนั้น ทย. ยังมีแผนสำหรับการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาท่าอากาศยานที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพเพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยในปี 66 ได้จัดทำโครงการออกแบบก่อสร้างขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และอาคารที่พักผู้โดยสาร พร้อมศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในหลายๆสนามบิน เช่น สนามบินน่านนคร วงเงิน 42.6562 ล้านบาท สนามบินสุราษฎร์ธานี วงเงิน 57.0280 ล้านบาท สนามบินชุมพร วงเงิน 41.0427 ล้านบาท สนามบินสตูล สนามบินมุกดาหาร วงเงิน 41.0427 ล้านบาท สนามบินบึงกาฬ วงเงิน 41.0427 ล้านบาท นอกจากนี้ ทย.ยังมีแผนพัฒนาสนามบินระนอง เพื่อรองรับการพัฒนาตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในเรื่องของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ซึ่งการพัฒนาท่าอากาศยานจะสามารถรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้รองรับผู้โดยสารและสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นายปริญญา กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายที่จะเพิ่มความสะดวกสบายการบริการให้กับผู้โดยสาร และ สายการบินที่มาใช้บริการที่สนามบินของ ทย.ด้วยการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมสายการบินนั้น ขณะนี้ ทย. ได้เริ่มดำเนินการที่จะลงระบบ และพัฒนาระบบให้เป็นเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมแล้ว ใน6 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินตรัง , สนามบินขอนแก่น, สนามบินอุบลราชธานี และสนามบินพิษณุโลก ซึ่งข้อดีของการเปิดเคาน์เตอร์เช็คอินร่วมสายการบินนั้นจะช่วยให้ผู้โดยสารไม่ว่าจะเดินทางด้วยสายการบินไหนก็สามารถเช็คอินที่เคาน์เตอร์ของ ทย.ได้ ขณะเดียวกันสายการบินก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบเช็คอินในแต่ละสนามบินเอง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 66 นี้
นายปริญญา กล่าวต่อว่า ในส่วนของแผนการพัฒนาในปี 67-70 นั้น ทาง ทย. จะเน้นมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสนามบินระนอง ,ชุมพร และ นครศรีธรรมราช ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยาน 10 ปี 2 ระยะ และนโยบาย Land bridge มูลค่ารวมกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นการพัฒนาสนามบินระนอง ช่วงตั้งแต่ปี 67 – 70 วงเงิน 1,600 ล้านบาท ด้วยการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้จากเดิม 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 0.8 ล้านคนต่อปี เป็น 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.8 ล้านคนต่อปี
นอกจากนั้นในส่วนของสนามบินชุมพร จะมีก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ วงเงิน 1,500 ล้านบาท ส่วนสนามบินนครศรีธรรมราช จะมีการขยายทางขับและลานจอดเครื่องบินให้สามารถรองรับอากาศยาน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ที่แล้วเสร็จวงเงิน 500 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 67 ทย. จะมุ่งเน้นการพัฒนา Level of service (LOS) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยจัดทำโครงการจัดหาและติดตั้งระบบตรวจจับการไหลเวียนของผู้โดยสาร วงเงิน 99 ล้านบาท ในสนามบิน 7 แห่ง ประกอบด้วย สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินขอนแก่น สนามบินอุบลราชธานี สนามบินพิษณุโลก สนามบินตรัง และสนามบินแม่สอด