ยอดสะสมของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยมีตัวเลขเพิ่มสูง เข้าใกล้เป้าหมายที่รัฐบาลและ ศบค.กำหนดไว้ ดังที่ ศบค.แถลงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,057 ราย เสียชีวิต 55 ราย เสียชีวิตสะสม 19,895 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี’63 รวม 19,989 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันนี้ 10 อันดับแรก อาทิ กรุงเทพมหานคร 667 รายสงขลา 463 ราย เชียงใหม่ 455 ราย ปัตตานี 377 ราย นครศรีธรรมราช 346 ราย สมุทรปราการ 251 ราย สุราษฎร์ธานี 245 ราย ยะลา 213 ราย ชลบุรี 189 ราย และนราธิวาส 186 ราย ผู้เสียชีวิต 55 ราย แบ่งเป็น ชาย 27 ราย และหญิง 28 ราย กรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัด
ที่น่าสนใจคือ การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 773,944 โดส แบ่งเป็น เข็มหนึ่ง 259,689 ราย เข็มสอง 481,230 ราย และเข็มสาม 33,025 ราย รวมยอดสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 รวม 84,094,565 โดส แบ่งเป็น เข็มหนึ่ง 45,069,302 ราย คิดเป็น 62.6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เข็มสอง 36,281,904 ราย คิดเป็น 50.4% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และเข็มสาม 2,743,359 ราย คิดเป็น 3.8% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และยังมีตัวเลขระบุว่า ไทยจัดหาวัคซีนเกินเป้าหมาย ปลายปีนี้ ไทยจะมีวัคซีน 155.6 ล้านโดส ประกอบด้วยวัคซีนที่รัฐจัดหา 128.6 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือก ได้แก่ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา จำนวน 27 ล้านโดส ตั้งเป้าหมายใหม่ภายในปีนี้ให้ครอบคลุมเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 80 และเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธันวาคม การฉีดวัคซีนชาวต่างชาติในไทยอยู่ที่ 2,196,744 โดส คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนชาวต่างชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในไทย
เป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยจัดหาวัคซีนได้จำนวนมากถึง 155.6 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพอต่อการฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และยังมีการปรับเป้าหมายใหม่ กำหนดให้ฉีดเข็ม 1 และ 2 ในระดับ 80-70% ของประชากรทั้งประเทศภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้การเปิดประเทศเป็นไปได้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น และมีผลทางเศรษฐกิจมากขึ้นเพราะหากฉีดได้กว้างขวางครอบคลุมจริงย่อมหมายถึงความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และความเสี่ยงจากการติดเชื้อจะลดลง สิ่งที่ตามมาอย่างรวดเร็วคือ การเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ จะมีความคึกคักมากขึ้น และหมายถึงโอกาสที่มากขึ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่เสียหายไปมากนับแต่โควิดระบาดจากต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน