วันเสาร์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
ปภ.เตือน18จังหวัด
ระวังน้ำทะเลหนุนสูงถึง28พ.ย.
ใต้ฝนตกหนัก-เหนือ-อีสานเย็น
อุตุฯเผย เหนือ-อีสาน อากาศหนาวเย็น ภาคใต้ฝนยังตกหนัก ส่วน ปภ.เตือน18 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ด้าน กรมอุทกศาสตร์ ประกาศน้ำทะเลหนุนถึง 28 พฤศจิกายนนี้
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่ามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังอ่อน ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่สะสม
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ และยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีหมอกในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายในการสัญจรบริเวณที่มีหมอก ส่วนฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในช่วงนี้การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันมีน้อย
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10–19 พฤศจิกายน 2564 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากใน11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ภูเก็ต พังงา และสตูล รวม 53 อำเภอ 157 ตำบล 659 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,371 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ได้แก่ ชุมพร 4 ราย และนครศรีธรรมราช 1 ราย
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และสงขลา รวม 6 อำเภอ 20 ตำบล 78 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,138 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง
ขณะที่อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน–18 พฤศจิกายน 2564 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 21 อำเภอ 233 ตำบล 1,571 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 90,116 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 35 ราย ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายแล้วหลายพื้นที่ ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ โดย ปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งสำรวจ และช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ปภ.รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย 1.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง บริเวณปากแม่น้ำและพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี กทม.สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส2.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ภาคกลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
3.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจ.อุบลราชธานี ภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส และ 4.พื้นที่ที่อาจเกิดฝนฟ้าคะนอง ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ จ.พังงา
ทั้งนี้ ขอประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระยะสั้นๆ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ริมน้ำอาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมในระดับสูง และบริเวณปากแม่น้ำ บริเวณชายฝั่งทะเลอาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง ให้ระวังอันตรายจากสัตว์จากกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง
ขณะที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ออกประกาศเรื่อง สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน (วันลอยกระทง) จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลาประมาณ 06.00–15.00 น.เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ
ที่บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.8-2เมตร จากระดับทะเลปานกลาง และบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูง ประมาณ 1.7-1.9 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระดับน้ำขึ้นสูงดังกล่าว และติดตามสภาวะระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
วันเดียวกัน ที่เกาะพีพี หมู่ 7 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำป่าจากภูเขาได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ร้านอาหาร โรงแรม และบังกะโล ที่อยู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูง 30-50 เซนติเมตร บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ส่งผลให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยต้องเดินลุยน้ำไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า1 ชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำสะสมบนภูเขา ไหลลงมาอย่างรวดเร็ว จนทะลักเข้าท่วมพื้นที่ด้านล่างดังกล่าว ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล
ชาวบ้านซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบระบุว่าบริเวณที่พักเป็นทางขึ้นเขา เมื่อฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้หนักว่าที่ผ่านมาเนื่องจากฝนตกหนักเป็นเวลานาน ทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งมีชาวบ้านได้บันทึกภาพและคลิปวีดีโอนำไปแชร์ในสื่อออนไลน์ด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ พอถึงช่วงสายๆ ของวัน ระดับน้ำก็ลดลงกลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ที่ขนย้ายข้าวของไม่ทัน