ภูมิภาค
ผู้ว่าฯสุราษฎร์สั่งเตรียมพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ เตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังใกล้ชิด
วันเสาร์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 11.07 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
วันที่ 20 พ.ย. 64 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้วิทยุด่วนที่สุด ถึง ผบ.มทบ.45, ผบ.กองบิน 7 , ผบ.นพค.46 , ผอ.โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี , ผอ.สนง.บริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 , นายอำเภอทุกอำเภอ , นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด , นายกเทศมนตรีทุกแห่ง , หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และหน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกสาขา ว่า ตามประกาศศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ลงวันที่ 19 พ.ย.64 โดยได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากการคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และข้อมูลฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เคยเกิดน้ำหลากและน้ำลันตลิ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 23-25 พ.ย.64
จึงขอให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ราบลุ่ม ที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ระมัดระวังปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น และปริมาณน้ำสะสมที่อาจเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง และดินถล่ม โดยให้อุทยานทุกแห่ง หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก ถ้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดถ้าสถานการณ์วิกฤติ ให้ดำเนินการปิดหรือห้ามเข้าโดยเด็ดขาด และเตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ ทรัพยากรกู้ภัย เครื่องจักรกล กำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสาธารณภัยให้รายงานสถานการณ์เหตุด่วนให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทราบโดยเร่งด่วนทางหมายเลขโทรศัพท์ 077-275-551,077-275-847จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี กลับคืนสู่ปกติแล้วทั้ง 10 อำเภอ เหลือเพียง อ.ท่าชนะ แห่งเดียวที่ยังมีน้ำท่วมขังเล็กน้อยในพื้นที่ ต.ประสงค์ และ ต.วัง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำและมีสภาพลุ่มต่ำที่รองรับน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานีได้สั่งศูนย์ ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานีและโครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี นำเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องและเครื่องผลักดันน้ำ อีก 2 เครื่องไปเร่งระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุดที่ประตูระบายน้ำคลองท่าม่วง หมู่ 5 ต.วัง อ.ท่าชนะ ก่อนฝนใหม่จะมาซึ่งสามารถระบายน้ำได้วันละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร
ด้านนายวิโรจน์ เดชเกลี้ยง นายอำเภอท่าชนะ กล่าวว่า หลังจากนำเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเข้ามาใช้สามารถระบายน้ำออกได้วันละ30,000 ลูกบาศก์เมตรทำให้พื้นที่การเกษตรและถนนที่ถูกน้ำท่วมคลี่คลายบรรเทาความเดือนร้อนประชาชนในพื้นที่ได้สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่