ดร.ชมพูนุช แสงเพ็ง ทำการศึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เกี่ยวกับพยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนจากปลาวงศ์ปลากะรังในประเทศไทย ร่วมกับ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รศ.ดร. วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ค้นพบพยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด คือ 1. Pseudorhabdosynochus suratthaniensis 2. Pseudorhabdosynochus cephalopholi 3. Pseudorhabdosynochus samaesarnensis โดยงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากทุนบัณฑิตศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับสถานที่ค้นพบ และที่มาของการตั้งชื่อปรสิตชนิดใหม่ของโลก มีดังนี้
Pseudorhabdosynochus suratthaniensis ตั้งตามสถานที่ที่จับปลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบในปลากะรังลายนกยูง Cephalopholis argus
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pseudorhabdosynochus suratthaniensis Saengpheng & Purivirojkul, 2022
Pseudorhabdosynochus cephalopholi ตั้งตามสกุลของปลา Cephalopholis ที่พบปรสิต ซึ่งพบในปลาสกุลนี้ 2 ชนิด คือ ปลากะรังแดงหัวลาย Cephalopholis sonnerati และ ปลากะรังแดงจุดฟ้า Cephalopholis miniate
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pseudorhabdosynochus cephalopholi Saengpheng & Purivirojkul, 2022
Pseudorhabdosynochus samaesarnensis ตั้งตามสถานที่ที่จับปลาชนิดที่พบเฉพาะปรสิตชนิดนี้ คือ ปลาหมอทะเล Epinephelus lanceolatus ซึ่งได้จากเกาะแสมสาร นอกจากนั้นยังพบปรสิตชนิดนี้ในปลากะรังชนิดอื่นอีก 6 ชนิดที่สามารถพบปรสิตชนิดนี้ได้คือปลากะรังด่างจุดขาว E. coeruleopunctatus, ปลากะรังดอกแดง E. coioides, ปลากะรังลายเมฆ E. erythrurus, ปลากะรังดอกดำ E. malabaricus, ปลากะรังเสือ E. fuscoguttatus และปลาเก๋ามุกมังกร (E. fuscoguttatus × E. lanceolatus)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pseudorhabdosynochus samaesarnensis Saengpheng & Purivirojkul, 2022
รศ.ดร. วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล กล่าวว่า พยาธิตัวแบนกลุ่มโมโนจีนเป็นปรสิตภายนอก ส่วนใหญ่พบตามซี่เหงือกของปลาโดยพบได้ทั้งในปลาน้ำจืด และปลาทะเล แพร่กระจายได้ทั่วโลก มีความจำเพาะต่อปลาเจ้าบ้านค่อนข้างสูง โมโนจีนสกุล Pseudorhabdosynochus เป็นปรสิตขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 0.26-1.50 มิลลิเมตร ลำตัวใส ปลายด้านหน้ามีเฮดออร์แกน (head organ) 3 คู่ มีจุดรับแสง (eye spot) 2 คู่ ระบบทางเดินอาหารมีคอหอย (pharynx) เป็นกล้ามเนื้อรูปร่างกลม ต่อจากคอหอยเป็นหลอดอาหาร (esophagus) สั้น และส่วนของลำไส้ซึ่งแยกเป็น 2 แขนง (intestinal caecum) จากส่วนหัวลงมาจะมีโคพูลาทอรีออร์แกน (copulatory organ) ส่วนท้ายมีอวัยวะช่วยยึดเกาะคือ โอพิสแฮพเตอร์ (opishaptor, opisthohaptor หรือ haptor) มีขนาดใหญ่แผ่กว้างอยู่ทางท้ายตัว
ลักษณะสำคัญที่พบในโมโนจีนสกุลนี้คือมี เมล ควอดริโลคูเลท ออร์แกน (male quadriloculate organ) เป็นอวัยวะที่ใช้ยึดเกาะในการผสมพันธุ์ รูปทรงคล้ายเครื่องหมายจุลภาค (comma shape) ภายในแบ่งออกเป็น 4 ช่อง (chambers) รวมทั้งลักษณะของสเคลอโรทิส วาไจนา (sclerotised vagina) ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้สืบพันธุ์ของ Pseudorhabdosynochus แต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Pseudorhabdosynochus suratthaniensis มีสเคลอโรทิส วาไจนาที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นปากแตรปากกว้างตามด้วยท่อสั้น ตรงหรือโค้งเล็กน้อยและมีผนังหนา ด้านท้ายมีช่องขนาดใหญ่ผนังหนาทรงเกือบกลม 1 ช่อง Pseudorhabdosynochus cephalopholi มีสเคลอโรทิส วาไจนาที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นปากแตรตามด้วยท่อยาวม้วนเป็นเกลียวหรือโค้งบริเวณกลางท่อมีผนังหนา ด้านท้ายมีช่องขนาดเล็กผนังหนา 2 ช่อง และ Pseudorhabdosynochus samaesarnensis มีสเคลอโรทิส วาไจนาที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นปากแตรทรงถ้วย (cup-shaped trumpet) ตามด้วยท่อสั้น ตรงหรือโค้งเล็กน้อยและมีผนังหนา ด้านท้ายมีช่องขนาดเล็กผนังหนา 1 ช่อง
ข้อมูลอ้างอิง
Saengpheng, C. and W. Purivirojkul. 2022. Three new species of Pseudorhabdosynochus (Monogenea, Diplectanidae) from several species of Cephalopholis and Epinephelus (Perciformes, Serranidae) from Thailand. Parasite 29, 48