หลังคว้าเหรียญทองแรกให้กับทัพนักกีฬาไทย ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 จากชัยชนะในศึกเทควันโดรุ่น 49 กก.หญิง รอบชิงชนะเลิศ เหนือคู่แข่งขัน “อาเดรียนา อิเกรเซียส เซเรโซ” สาวน้อยจากสเปน ไปแบบระทึก 11-10 คะแนน ท่ามกลางแฟนกีฬาชาวไทยที่เอาใจช่วยอยู่หน้าจอทีวี ชื่อของ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวหมายเลข 1 ของโลก จากเมืองสุราษฎร์ธานี ที่โด่งดังอยู่แล้ว จะยิ่งโด่งดังมากขึ้นไป
วันนี้จะพาย้อนเวลาไปทำความรู้จักกับ “น้องเทนนิส” อีกครั้ง ด้วยบทสัมภาษณ์พิเศษแบบเจาะลึก กับ “ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์” เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี 2562 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน …จากเด็กขี้โรคสู่แชมป์โลกเทควันโดในวันนั้น และก้าวขึ้นสู่แชมป์โอลิมปิกเกมส์ 2020 ในวันนี้ ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของเธอ และเธอก็ทำให้ฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมาแล้ว
จุดเริ่มของ “เทนนิส” พาณิภัค?
“พาณิภัค” เป็นชื่อที่คุณพ่อสิริชัย และคุณแม่วันทนา ตั้งให้ค่ะ แปลว่า “พูดดีเป็นสิริมงคล” ส่วน “เทนนิส” ชื่อเล่นมีที่มาจากการที่เราเป็นครอบครัวกีฬากันทั้งบ้าน พ่อเป็นนักกีฬาฟุตบอล กรีฑา ว่ายน้ำ ส่วนแม่เป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำ และผู้นำการออกกำลังกายแอโรบิก ทำให้ลูก ๆ ถูกปลูกฝังให้เล่นกีฬาและเป็นนักกีฬาไปด้วย โดยพี่สาวชื่อ “โบว์ลิ่ง” (เรืออากาศเอกหญิงกรวิกา วงศ์พัฒนกิจ) เป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำ เช่นเดียวกับพี่ชายชื่อ “เบสบอล” (ศราวิน วงศ์พัฒนกิจ) เป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำและอดีตนักกีฬาเทควันโดค่ะ
ในส่วนของหนูที่มาที่ไปในการเล่นกีฬาก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษนะคะ ตอนแรก ๆ ก็เล่นเพื่อออกกำลังกายเท่านั้น คือพ่อชอบพาไปวิ่งตอนเช้า ๆ พ่อชอบเล่นเทนนิส ก็ให้หนูช่วยเก็บลูกเทนนิสให้เป็นประจำ นี่ก็เป็นที่มาของชื่อ “เทนนิส” ด้วย”
“สมัยเด็ก ๆ ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ก็เล่นกีฬาทุกอย่าง เพราะว่าเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม ตอนนั้นเราก็เล่นกีฬาสี ทั้งกรีฑา ที่ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนได้ไปคัดเลือกระดับอำเภอ แต่พอไประดับจังหวัดก็ไม่ติด กีฬาวอลเลย์บอล ก็เล่นมาแล้ว คือเล่นกีฬาสีเล่นทุกอย่าง แต่ก็ไม่มีอะไรโดดเด่นสักอย่างเดียว หนูเล่นเพื่อหาเพื่อนค่ะ หาคนที่ชอบเล่นกีฬาเหมือนกัน “อีกอย่างตอนเด็ก ๆ หนูไม่ค่อยแข็งแรง ผอมแห้งแรงน้อย อ่อนแอ ขนาดกินขนมที่เป็นซอง ๆ ยังแพ้เลยค่ะ แพ้ผงชูรส แพ้อาหารทะเล กุ้ง ปลาหมึก กินไม่ได้เลย พ่อก็เลยหากิจกรรมให้ทำ ให้ออกกำลังกายตลอด”
สุดท้ายมาลงเอยกับกีฬาเทควันโด?
“คือตอนนั้นหนูเองก็ตัดสินใจเลือกอยู่เลยค่ะ แบบว่าไม่ได้ตั้งใจเล่นนะ แต่พ่ออยากให้เรียนดีกีฬาเด่น เล่นกีฬาและไม่ทิ้งการเรียน แต่อย่างที่บอกว่าหนูเล่นทุกอย่าง แต่ไม่จริงจัง อย่างว่ายน้ำนี่พ่อก็สอนว่ายน้ำ แต่หนูเป็นคนเดียวในบ้านที่ว่ายน้ำไม่เป็น พี่เบสเคยเล่าว่าตอนเด็กพ่อออกอาการหมั่นไส้ ถีบหนูลงสระมาแล้ว (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้ว่ายเป็นแล้วนะคะ จากนั้นหนูก็ได้มาร่วมวิ่ง 31 ขา (นักกีฬาตัวจริงมี 30 คน) ที่ทาง เอ.พี.ฮอนด้า จัดขึ้นทั่วประเทศ เป็นกีฬาที่เริ่มเข้ามานิยม เน้นเรื่องทีมเวิร์ก ซึ่งหนูเองก็ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนด้วย ได้ไปแข่งชิงแชมป์ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี”
“แต่ช่วงเดียวกันนั้นมีแข่งเทควันโด ที่ จ.นครศรีธรรมราช จำได้ว่าทีมของหนูผ่านรอบแรกในช่วงเช้าตอน 10 โมง แล้วรอเข้ารอบชิงชนะเลิศในช่วงบ่าย แต่พ่อมาถามว่าอยากไปแข่งเทควันโดไหม เพราะถ้าไปเราก็ต้องสละสิทธิ์ตรงนี้เพื่อให้เพื่อนที่เป็นตัวสำรองได้มีโอกาสได้วิ่ง 31 ขา บ้าง พอหนูมีทางเลือก 2 ทาง ก็เลยตัดสินใจว่าจะไปแข่งเทควันโด ไปบอกคุณครู ท่านก็ไม่ว่าอะไร ซึ่งรายการนั้นหนูได้แชมป์กลับมาด้วยนะ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะคนแข่งน้อยด้วยเพราะตอนนั้นภาคใต้ ยังมีนักกีฬาน้อยด้วยแหละ”
“หนูเล่นเทควันโดตอน ป.3 อายุ 9 ขวบ แต่แชมป์แรกในการเล่นกีฬาเทควันโดได้ตอน ป.6 จากนั้นพอขึ้น ม.1 ก็ได้แชมป์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่ จ.อุตรดิตถ์ รู้สึกดีใจมากเพราะเราเล่นกีฬาไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ก็ถือเป็นการจุดประกายให้กับตัวเองที่จะมาเอาดีทางกีฬาชนิดนี้ด้วย ซึ่งหนูต้องขอบพระคุณทางครูทรงศักดิ์ ทิพย์นาง ครูคนแรกที่สอนเทควันโดให้ ที่ยิมตาปีเทควันโด จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนี้ท่านย้ายมาทำที่หัวหินแล้ว จากนั้นในปี 2554 ทางสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ก็ได้เรียกตัวนักกีฬาที่ได้เหรียญทองกับเหรียญเงิน จากกีฬาเยาวชนแห่งชาติ มาคัดเลือกตัว ซึ่งหลังจากนั้นหนูก็ติดทีมชาติไทยมาตลอด”
ลุยเดี่ยวสู่เมืองกรุงเพื่อเทควันโด?
“ต้องบอกว่าการฝึกซ้อมภายใต้การคุมทีมของโค้ชเช ยอง ซอก ถือว่าหนักมาก คือหนูเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ต้องจากบ้านเกิดที่สุราษฎร์ธานี มาอยู่กรุงเทพฯ เพียงลำพังคนเดียว พี่ลองคิดดูนะว่าเป็นยังไง จากที่หนูเคยมีพ่อ มีน้าที่ทำอะไรให้ทุกอย่าง แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ อยู่หอพัก 300 เตียง ของ กกท. คนเดียว ช่วงแรก ๆ ก็ร้องไห้หนักมาก พี่สาวอยู่ที่ปทุมธานี ส่วนพี่ชายอยู่ที่นครนายก จะได้เจอกันก็เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งหนูต้องนั่งรถตู้ไปหา ใช้เวลานานกว่า 2-3 ชั่วโมง อยู่ด้วยกันวันเดียวก็ต้องรีบกลับมาเข้าแคมป์ฝึกซ้อมต่อ ตอนเหนื่อย ตอนท้อก็ไม่มีที่พักทางใจไม่มีใครให้คำปรึกษา แม้ว่าจะมีเพื่อนรุ่นเดียวกัน 2 คน (น้องติณ-น้องแพรว) แต่ก็ได้แค่ปรับทุกข์ ให้กำลังใจตามประสาเด็ก ๆ เท่านั้น”
เคล็ดรับความสำเร็จบนเส้นทาง?
“มันก็ยังไม่ขนาดนั้นนะคะ อย่างที่บอกว่าตั้งแต่ติดทีมชาติรุ่นเยาวชนมา หนูก็อยู่ยาวเลย แข่งครั้งแรกเทควันโดเยาวชนชิงแชมป์โลก ที่ประเทศอียิปต์ตอนนั้นแพ้และไม่ได้เหรียญ เสียใจเศร้าใจมาก มาเล่นซีเกมส์ ที่เมียนมา ก็ได้แค่เหรียญเงิน แต่หนูก็ไม่ท้อแท้นะ สู้ต่อพยายามฝึกฝนอย่างหนักเพื่อเอาชนะให้ได้ จนในที่สุดก็ได้แชมป์มาแล้วเกือบทุกรายการทั้ง ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, แชมป์โลก (2 สมัย รุ่น 46 กก. กับ รุ่น 49 กก.), กีฬามหาวิทยาลัยโลก (2 สมัย), เวิลด์ กรังด์ปรีซ์, เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ไฟนอล รวมทั้งเหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ ยังขาดก็เหรียญทองนี้แหละค่ะ”
“ถามว่ากดดันไหม ตอบได้เลยว่ากดดันมาก ทุกรายการที่ลงเล่นในนามทีมชาติไทย กดดันหมดเพราะเราถูกคาดหวังว่าจะต้องได้ อย่างโอลิมปิกเกมส์นี่สุด ๆ แม้ระดับความยากง่ายอาจจะไม่แตกต่างจากเอเชี่ยนเกมส์หรือชิงแชมป์โลก แต่คำว่าโอลิมปิกเกมส์ 4 ปีมีครั้ง พลาดแล้วพลาดเลย กลับมาแก้ตัวไม่ได้ จึงถือว่าเป็นรายการที่กดดันที่สุดเลยก็ว่าได้ค่ะ”
เผยวิธีการรับมือกับความกดดัน?
“แต่ก่อนตอนเด็ก มันก็เครียดมากนะ แต่มาตอนนี้พอหนูโตขึ้นก็เริ่มปล่อยวางแล้วละ ซึ่งต้องขอบคุณทางพี่ปลา (ดร.วิมลมาศ ประชากุล) นักจิตวิทยา ที่สอนหนูมาตั้งแต่เด็ก ๆ ค้นหาสารพัดวิธีให้หนูรับมือกับความกดดัน จนในที่สุดหนูก็ทำได้ อย่างล่าสุด ศึกเทควันโดชิงแชมป์โลก 2019 ที่ประเทศอังกฤษ เห็นได้ชัดเลยว่าหนูสามารถควบคุมสมาธิของตัวเองได้ดีที่สุด ตอนลงสนามก็ไม่สนใจใครทั้งสิ้น สนาม 8 เหลี่ยม มองเห็นแค่คู่ต่อสู้ เอาขนาดที่ว่าหนูได้ยินแค่เสียงเต้นของหัวใจเท่านั้นเอง”
เคยท้อแท้จนคิดเลิกเล่นเทควันโด?
“ใช่ค่ะ หลังจากจบโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่รีโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งหนูได้เหรียญทองแดง หนูเกิดความท้อแท้ จนอยากจะเลิกเล่นไปเลย คือที่คิดจะเลิกเพราะว่านอกจากจะฝึกซ้อมหนักทุกวันแล้ว ยังต้องเรียนหนังสือหนักด้วย ตอนนั้นเข้าปี 1 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ต้องเรียนหนักมาก หนูมาจากสายศิลป์จีน แต่พอมาเรียนคณะนี้ที่มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ก็ต้องมาเริ่มใหม่หมด ตอนนั้นเดินไปสารภาพกับโค้ชเชว่าอยากเลิกเล่น แต่โค้ชเชอนุญาตให้หยุดซ้อมไปเลย ให้ไปปรับตัวกับการเรียนก่อน ผ่านไป 1 เทอม แล้วค่อยมาลุยกันต่อ โค้ชเชเป็นคนปลุกให้หนูสู้ แกบอกว่าถ้าเลิกเล่นตอนนี้ก็ยังไม่มีใครขึ้นมาแทน ที่สำคัญคือหนูเป็นไอดอลของเด็ก ๆ หากเลิกเล่นตอนนี้แล้วใครจะอยากเข้ามาเล่นต่อ จุดนี้เลยทำให้หนูกลับมาสู้ต่อค่ะ”
สวมหัวใจสิงห์ปิดบัญชีแค้น?
“หวู จิน หยู อดีตแชมป์โลกและเจ้าของเหรียญ ทองโอลิมปิกเกมส์ชาวจีน คือคนที่เคยรับมือยากที่สุด หนูเคยแพ้เขามา 2 ครั้ง ทุกครั้งแพ้แบบเอาต์สกอร์ (แพ้ขาดลอย) มันหลอนในใจมาก เพราะเคยโดนเตะทีเดียวหน้าเขียว ตาหนูบวมเขียวไปเลย แต่พอมาเจอกันครั้งล่าสุด ในรอบชิงเทควันโดโลก ที่อังกฤษ หนูก็ไม่คิดมาก ทำสมาธิให้ดีที่สุด ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สุดท้ายหนูก็ทำสำเร็จ แก้มือเขาได้ และชนะด้วยสกอร์ที่ขาดลอยด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้่มาจากการฝึกฝนและใจสู้ล้วน ๆ”
ความฝันและเป้าหมายในชีวิต?
“หนูอยากเป็นทหารอากาศค่ะ ตอนนี้ก็ได้เป็นแล้ว จ่าอากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ซึ่งเป็นการเดินตามรอยพี่สาวและพี่เขยที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร (จปร.) เขาชะโงก จ.นครนายก พี่สาวสอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนพี่เขยสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ส่วนทางกองทัพอากาศเอง มีหลักเกณฑ์ว่าถ้าได้เหรียญโอลิมปิก (เหรียญทองแดง) หรือ เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ (เหรียญทอง เอเชี่ยนเกมส์ 2018) และเรียนจบระดับปริญญาตรีแล้ว ก็จะได้ติดยศชั้นสัญญาบัตร ซึ่งตอนนี้หนูทำผลงานด้านกีฬาได้หมดแล้ว เหลือเพียงว่าเรียนจบเมื่อไหร่ก็เอาใบปริญญาไปยื่นได้เลย คิดว่าหลังเลิกเล่นเทควันโดก็จะเข้ารับราชการเป็นทหารอากาศนี่ละค่ะ”
“ส่วนความฝันสูงสุดของหนู แน่นอนว่าคือเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 แต่พอถึงจุดนั้นเราไม่สามารถที่จะควบคุมอะไรได้ใช่มั้ยคะ ชีวิตนักกีฬาทุกคน ใคร ๆ ก็อยากได้เหรียญทองโอลิมปิก แต่มันมีเหรียญเดียว ฉะนั้นคนที่เก่งที่สุดเท่านั้นจึงจะได้ หนูเองก็ฝันไว้ ฝันว่าอยากได้ จึงต้องพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อก้าวไปถึงจุดนั้นให้ได้ค่ะ”
เส้นทางสู่ความฝัน หวั่นกลัวกับอะไรบ้าง?
“สิ่งเดียวของชีวิตการเป็นนักกีฬาคือกลัวอาการบาดเจ็บค่ะ เพราะระหว่างการฝึกซ้อมหรือแข่งขันอาจจะเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ว่าเราจะระวังอย่างดีแล้วก็ตาม อีกข้อคือการบาดเจ็บจากการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะหนูเองเคยเจ็บหนักขนาดเอ็นไขว้หลังขาด ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันขาด พอแข่งเสร็จไปหลายวัน กลับมาซ้อมต่อก็ยังไม่หาย เลยไปหาหมอ จึงได้รู้ว่ามันขาด อีกครั้งคืออุบัติเหตุจากการนั่งวินมอเตอร์ไซค์ล้มตอนกลับเข้าบ้าน ถูกรถทับข้อเท้าจนกระดูกช้ำ แล้วตอนนั้นเหลือเวลาอีก 2 อาทิตย์ ก็จะแข่งเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ไฟนอล ที่นครดูไบ ประเทศยูเออี แล้ว เรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นมรสุมชีวิตเลยก็ว่าได้ ไปบอกโค้ชเชว่าไม่ไหว แต่โค้ชไม่ยอมให้ไปแข่งทั้ง ๆ ที่มีอาการบาดเจ็บ หนูก็กัดฟันสู้นะ สู้จนได้เหรียญเงินมา รอบชิงชนะเลิศ ไปแพ้นักกีฬาเกาหลีใต้ แพ้แบบไม่น่าแพ้ด้วย เสียดายมากค่ะ”
เรื่องของความรักมีคนหมายปอง?
“หนูมีแฟนแล้วค่ะ (หัวเราะแบบเขิน ๆ ก่อนตอบ) แต่ยังไม่ขอเปิดตัวนะคะ เรื่องนี้พ่อก็รู้ แต่ว่าเราเปิดไม่ได้ เราเป็นนักกีฬา ถามว่าบอกอะไรมากกว่านี้ได้มั้ย หนูบอกไม่ได้อย่างเด็ดขาดค่ะ บอกได้แค่ว่าเป็นคนนอกวงการ เท่านี้จริง ๆ นะ หนูคบกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพื่อนกันมาก่อนนะคะ พูดมากกว่านี้ไม่ได้ค่ะ เอาแบบนี้นะเดี๋ยวหนูจะเปิดตัวหลังจบโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ญี่ปุ่น คนจะได้ไม่ด่าค่ะ คือเราเป็นนักกีฬา บางครั้งก็เหนื่อยและท้อแท้จากการฝึกซ้อม บางครั้งผิดหวังกับผลการแข่งขัน เขาก็จะโทรฯให้กำลังใจตลอดค่ะ ถามว่าพ่อไม่ว่าเหรอ ไม่ว่าค่ะและไม่สนใจด้วย ไม่ค่อยอิน พ่อเฉย ๆ ค่ะ (หัวเราะ)”
สุดท้ายนี้จะฝากอะไรถึงใครบ้าง?
“อยากขอบพระคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดฯ, ผู้บริหารสมาคมฯ โค้ชแม็ก โค้ชเล็ก โค้ชต้อ พี่ ๆ ในออฟฟิศของสมาคมฯ ที่ช่วยเหลือและดูแลหนูทุกเรื่อง อีกท่านคือครูศักดิ์ ครูคนแรกที่เห็นว่าหนูมีอะไรดีอยู่ในตัว ช่วยขัดเกลาจากเด็กที่ไม่เก่ง จนมีวันนี้ได้ อีกคนที่ลืมไม่ได้คือโค้ชเช เพราะถ้าไม่มีโค้ชเช ก็คงไม่มีหนูในวันนี้”
“สุดท้ายคือครอบครัวของหนูค่ะ คุณพ่อสิริชัย พี่โบว์ลิ่ง พี่เบสบอล ที่เป็นกำลังใจให้หนูยามท้อแท้ และทั้งถีบทั้งดันจนหนูมาถึงตรงนี้ได้ และที่จะอยู่ในดวงใจหนูตลอดคือคุณแม่วันทนา หนูอยากให้แม่รู้ว่าหนูได้ทำเต็มที่กับการเป็นลูกที่ดี กับการเป็นนักกีฬาทีมชาติ และหนูจะพยายามอย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน จะเอาเหรียญทองโอลิมปิกมาฝากแม่ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ให้ได้ค่ะ”.
เรื่อง : วอน อ่อนวงศ์
ภาพ : พีรพันธ์ แผนดี