เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เครือข่ายสลัม 4 ภาค และตัวแทนชุมชนในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น ตรัง สงขลา และนครราชสีมา ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผ่านหน่วยงานราชการให้แต่ละจังหวัด เพื่อคัดค้านแนวคิดใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) สร้างแฟลตให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่อาศัย
หนังสือคัดค้านระบุว่า ตามที่มีการบันทึกความร่วมมือระหว่าง รฟท.และการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และการแถลงข่าวของรัฐมนตรี พม.ในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่จะนำที่ดินของ รฟท.สร้างเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบแฟลตสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มต่างๆ นั้น ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองที่ได้รับผลกระทบ และเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ซึ่งมีสมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ มีความกังวลและไม่เห็นด้วยที่ พม. จะมีนโยบายทางเดียวที่จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
หนังสือคัดค้านระบุอีกว่า จากการสำรวจชุมชนในที่ดินของการรถไฟฯ พบว่ามี 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน หาก พม. และ คค. มีความจริงใจในการแก้ปัญหาโดยมีประชาชนเป็นที่ตั้ง ควรจะนำเอาโมเดลการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของ รฟท.ที่ผ่านมาศึกษา รวมถึงควรมีการหารือรูปแบบการอยู่อาศัยกับประชาชนโดยตรง
นายคมสันต์ จันทร์อ่อน เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า การออกมาร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านในวันนี้ ไม่ใช่เพียงชาวบ้านในเครือข่ายสลัม 4 ภาคเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มคนจนที่จะได้รับผลกระทบในจังหวัดต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านกลุ่มชาวบ้านที่เช่าและอาศัยอยู่ในที่ดินของ รฟท.มีกระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับทั้ง 2 กระทรวงอยู่แล้ว โดยมีโมเดลการแก้ปัญหาการเช่าที่ดินถูกต้องตามกฎหมายแล้วนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาล ที่ชาวชุมชนสามารถมีส่วนออกแบบลักษณะที่อยู่อาศัยแนวราบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนตนเอง แต่แนวคิดการสร้างแฟลตนั้นอาจเหมาะสมกับคนชั้นกลางที่ทำงานออฟฟิศ แต่กับชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนจนมีอาชีพเก็บของเก่าหรือค้าขาย จึงไม่สามารถไปใช้ชีวิตอยู่บนอาคารสูงอย่างแฟลตได้
“จริงๆ เรามีคณะกรรมการร่วมกันเป็นกลไกแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว แต่ไฉนจึงไม่นำแนวคิดนี้มาหารือร่วมกัน กลับลักไก่ชาวบ้าน 2 กระทรวงจับมือกันแล้วนิมิตรนโยบายที่ไม่เห็นหัวประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านไม่อยากออกไเดินประท้วง แค่อยากให้รับฟังความต้องการของคนจน ไม่ใช่บีบช่องจะทำแฟลตเพียงอย่างเดียว แล้วชาวบ้านที่ทำน้ำพริกขาย ทำสตรีทฟู๊ดขาย หรือเก็บของเก่าขาย จะให้ไปอยู่บนตึกแฟลตชั้น 4 ได้อย่างไร” นายคมสันต์ กล่าว
นายคมสันต์ กล่าวอีกว่า ชาวชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟกังวลว่าจะมีการนำนโยบายดังกล่าวผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรี ที่อาจส่งผลให้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน รฟท. เป็นไปในรูปแบบเดียวคือการสร้างแฟลตให้คนจนอยู่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน และอาจทำให้การรถไฟสูญเสียที่ดินให้กับเอกชนได้ เนื่องจากหากชาวบ้านคนจนจะไม่ย้ายไปอยู่บนแฟลตที่สร้างขึ้นนี้ การเคหะฯ จะมีการนำโครงการไปขายต่อให้กับกลุ่มทุน หรือผู้ที่มีเงิน ดังนั้น รฟท.จะสูญเสียที่ดิน แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือคนจน ที่ดินจะกลายเป็นแหล่งเก็งกำไรของกลุ่มทุน
“ที่ผ่านมาชาวบ้านเช่าที่ดินการรถไฟ ทำสัญญาเช่ามากกว่า 60 ฉบับ ได้งบมาปรับปรุงที่อยู่อาศัยในแนวราบ ที่ดินของการรถไฟมีเพียงพอกับชาวบ้านอยู่แล้ว เพราะมีชุมชนตั้งอยู่แล้ว เหลือเพียงความใจกว้างของการรถไฟออกแบบที่อยู่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต แต่ถ้าอ้างว่าที่ดินมีน้อย อยากพัฒนาสร้างรายได้ ตอนนี้กลุ่มทุนก็ได้ที่ดินมักกะสันไปหลายร้อยไร่ การรถไฟน่าจะได้กำไรเยอะแล้ว ไม่อยากให้เป็นนโยบายที่เคลียร์คนจนออกจากที่ดินรถไฟ ส่วนหนึ่งก็อยากให้เหลือที่ดินไว้ช่วยเหลือคนจนช่วยเหลือสังคมด้วย และอยากให้สรุปบทเรียนจากอดีตที่เคยสร้างแฟลตแล้วย้ายคนจนไปอยู่ ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง” นายคมสันต์ กล่าว
2021-10-25