สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ช่วยเหลือชาวชุมชนในสถานการณ์โควิด-19
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ/ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ให้ความช่วยเหลือชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ นำอาหารช่วยชาวชุมชนและสมาชิก 7 ครอบครัวที่กักตัวดูอาการ ชาวเกาะลิบง จ.ตรัง ปิดเกาะหนีโควิด เตรียม ‘ปลาแลกข้าว’ ช่วยเหลือพี่น้อง สุราษฎร์ธานีช่วยสมาชิกบ้านมั่นคงที่เกาะสมุยขาดรายได้เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว อำนาจเจริญเปิดตลาดสินค้าชุมชนสร้างช่องทางการตลาดให้ชาวบ้านในช่วงโควิด ฯลฯ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 แพร่ขยายไปทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งทั่วประเทศ ฯลฯ โดยได้เตรียมพร้อมรับมือกับโควิด– 19 มาตั้งแต่การแพร่ระบาดช่วงแรกเมื่อต้นปี 2563 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเหล่านี้ได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องชุมชนและสมาชิกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางช่วย 7 ครอบครัวกักตัวโควิด
นุชจรี พันธุ์โสม เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง บอกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนเขตวังทองหลางในขณะนี้ มีสมาชิกบางชุมชนที่ติดเชื้อโควิดแล้ว 1 ราย ตรวจพบเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ตอนนี้อยู่ในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และมีครอบครัวกลุ่มเสี่ยงรวม 7 ครอบครัวที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้ออยู่ใน 3 ชุมชน คือ ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนร่วมสามัคคี และชุมชนทรัพย์สินเก่า
“ขณะนี้สมาชิกทั้ง 7 ครอบครัวทางชุมชนให้กักตัวเองอยู่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน ไม่ให้ออกจากชุมชน โดยทางชุมชนร่วมกับสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางนำอาหารสดและอาหารแห้ง รวมทั้งเจลล้างมือเอาไปให้ที่บ้าน และให้คำแนะนำในการกักตัวเองอยู่ในบ้าน เช่น ต้องใส่หน้ากาก ไม่ให้ใช้เสื้อผ้าและสิ่งของร่วมกัน ต้องล้างมือบ่อยๆ” นุชจรีบอกถึงการเฝ้าระวังและสังเกตอาการที่ได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาให้คำแนะนำแก่ครอบครัวกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีสมาชิก 20 ชุมชน ประชากรประมาณ 20,000 คน อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ ใกล้ชุมชน ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขายเล็กๆ น้อย ขับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แท็กซี่ ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี 2563 ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ศูนย์บริการสาธารณสุข 15 สำนักอนามัย กทม. และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฯลฯ จัดทำโครงการป้องกันโควิด ตรวจคัดกรอง แจกหน้ากาก เจลล้างมือ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน
บ่อเลี้ยงปลาดุกและแปลงผักที่ชุมชนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง
นุชจรีบอกว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางขอใช้พื้นที่ว่างเปล่าของสำนักงานทรัพย์สิน พระมหากษัตริย์ใกล้ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ใช้งบประมาณจากกองทุนชุมชน (กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตวังทองหลาง) และงบสนับสนุนจาก พอช. ปลูกผักสวนครัวต่างๆ และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ 6 บ่อ เพื่อแจกจ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบให้นำไปทำอาหาร โดยปลาดุกจะเลี้ยงรอบละประมาณ 600 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงรอบละ 3 เดือน ปัจจุบันเลี้ยงและแจกไปแล้ว 9 รอบ มีชาวบ้านได้รับแจกไปแล้วเกือบ 100 ครอบครัว
ส่วนผักก็จะช่วยกันปลูกและดูแล ใครต้องการก็มาเก็บไปทำอาหาร ช่วยลดรายจ่าย นอกจากนี้ยังมีผัก และอาหารจากมูลนิธิ Thai SOS โครงการรักษ์อาหาร นำผักและอาหารที่ได้รับบริจาคจากร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ฯลฯ นำมาแจกชาวบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วย
มูลนิธิรักษ์อาหารนำผักและอาหารมาสนับสนุนชุมชน
“เราจะให้ครอบครัวที่เดือดร้อนขาดรายได้ มาเอาปลาดุกและผักที่ปลูกไปทำอาหารกินเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาผลกระทบทุกอาทิตย์ และเราจะสอนให้ทำบัญชีรายรับ–รายจ่ายในครัวเรือน เพื่อฝึกการทำบัญชีควบคุมรายจ่าย เวลาจะมาเอาปลาดุกก็จะต้องเอาบัญชีครัวเรือนมาให้ดูด้วย นอกจากนี้เรายังซื้อข้าวสารจากชาวนานำมาขายราคาถูกให้แก่ชาวชุมชนเพื่อช่วยกันในช่วงโควิดด้วย” เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางบอก
ชาวเกาะลิบงปิดเกาะหนีโควิด เตรียม ‘ปลาแลกข้าว’ ช่วยเหลือพี่น้อง
ตำบลเกาะลิบง อ.กันตรัง จ.ตรัง เป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง ในช่วงวัดหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่มาท่องเที่ยวแล้วตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 2 ราย ชุมชนจึงลงมติร่วมกันให้ปิดเกาะลิบงตั้งแต่วันที่ 17-30 เมษายน
อิสมาแอน เบญสะอาด ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะลิบง บอกว่า สถานการณ์โควิดในปีนี้ ถือว่ามีผลกระทบต่อชาวชุมชน เพราะอาหารทะเลต่างๆ ที่เคยขายได้ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่ภาคใต้ รวมทั้งการปิดเกาะลิบงในช่วงนี้ รายได้จากการขายอาหารและการท่องเที่ยวจึงลดน้อยลง ขณะที่ชาวบ้านต้องซื้อข้าวกินทุกวัน เพราะบนเกาะทำนาไม่ได้
“ตอนนี้แกนนำในตำบลกำลังปรึกษากันเพื่อทำโครงการ ‘ปลาแลกข้าว’ โดยจะนำอาหารทะเลแห้งของชุมชน เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาสีเสียด กุ้ง กะปิ ฯลฯ ไปแลกข้าวกับพี่น้องที่ทำนาที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนนี้กำลังสำรวจว่ามีกี่ครอบครัวที่จะเข้าร่วม ต้องการข้าวสารเท่าไหร่ และจะเอาอะไรไปแลก นอกจากนี้ข้าวที่ได้ก็จะเอามาช่วยคนที่ยากลำบาก เช่น คนแก่ คนป่วย เพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม รวมทั้งพี่น้องภาคต่างๆ ที่มีข้าวเพียงพอ หากสนใจก็มาแลกเปลี่ยนกันได้” บังแอนบอก
ตำบลเกาะลิบง มี 4 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ตำบลได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตจาก พอช.ในช่วงสถานการณ์โควิด จึงนำมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผัก เลี้ยงเป็ด ไก่ เป็นอาหาร เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ขบวนองค์กรชุมชน จ.สุราษฎร์ธานีช่วยพี่น้องบ้านมั่นคงเกาะสมุย
อย่างไรก็ตาม นอกจากที่เกาะลิบงแล้ว สมาชิกเครือข่ายสภาองค์องค์กรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังรวบรวมน้ำใจนำข้าวสารอาหารแห้ง สิ่งของจำเป็น ไปมอบให้แก่พี่น้องชาวชุมชนบ้านมั่นคง อ.เกาะสมุยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวต่างชาติไม่เดินทางเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ทำให้สมาชิกชาวชุมชนบ้านมั่นคงเกาะสมุยโครงการ 1 ประมาณ 300 ครอบครัว ประชากรประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างในโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร และบริการต่างๆ ได้รับผลกระทบ ตกงาน ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้
อภิชิต จันทร์เดช ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนมองเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องบ้านมั่นคงเกาะสมุยจึงได้ทำเสื้อสกรีนข้อความ ‘สภาองค์กรชุมชนสุราษฎร์ธานี’ นำมาขายราคาตัวละ 300 บาท เพื่อนำรายได้ระดมทุนกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายพี่น้องคุณภาพชีวิต รวมเป็นเงินกว่า 25,000 บาท ซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำมัน ปลากระป๋อง ของยังชีพต่างๆ รวมทั้งพี่น้องชาวเลยังมอบปลาเค็ม เพื่อไปช่วยเหลือพี่น้องบ้านมั่นคงโครงการ 1 อ.เกาะสมุย โดยมอบไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้
มอบสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือพี่น้องบ้านมั่นคงเกาะสมุย
“นอกจากนี้เรายังสำรวจข้อมูลผู้ที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน พบว่ามี 50 ครัวเรือน จึงได้นำเคสทั้งหมดส่งต่อ พมจ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว และต่อไปเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนสุราษฎร์ธานีจะมีแผนให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านอาชีพแก่พี่น้องที่เกาะสมุย โดยอยู่ระหว่างการประสานงานกับทาง พมจ.สุราษฎร์ธานี” แกนนำขบวนองค์กรชุมชน จ.สุราษฎร์ธานีบอก
นอกจากนี้ยังมีน้ำใจจากพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนในภาคต่างๆ เช่น ภาคเหนือ จังหวัดน่าน เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดน่าน ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 และได้รับผลกระทบในพื้นที่ตำบลของตน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลป่าคา อ.ท่าวังผา มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้ประสบปัญหาติดเชื้อโควิดในพื้นที่ตำบลป่าคาช่วงกักตัว 14 วัน โดยขณะนี้ในจังหวัดน่าน มีผู้ป่วยติดเชื้อครอบคลุม 10 อำเภอ มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 66 ราย
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ภาคอีสาน จ.อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลเสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ ได้เปิดตลาดสินค้าชุมชน เพื่อจำหน่ายและแสดงสินค้าเพื่อช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยให้กลุ่มอาชีพในตำบลนำสินค้าในชุมชนมากกว่า 15 กลุ่ม มาจำหน่ายให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนที่ต้องการอาหารสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารเคมี เป็นการช่วยเหลือพี่น้องสมาชิกกลุ่มอาชีพให้มีรายได้ในช่วงโควิดนี้
ตลาดสินค้าชุมชนสร้างอาชีพ รายได้ ช่วงโควิด
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลือกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของขวนองค์กรชุมชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อผ่านวิกฤตร้ายนี้ไปด้วยกัน โดยจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และจะก้าวไปสู่การพัฒนาหลังสถานการณ์โควิดพร้อมๆ กัน
หมายเหตุ : เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน สื่อสารและจัดการความรู้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และขบวนองค์กรชุมชน